Logo

สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมและสังคมแห่งอนาคต

  คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในงานด้านวิศวกรรมซึ่งมีการบูรณาการระหว่างสาขาวิศวกรรมพื้นฐานมากขึ้น ด้วยเหตุนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงมีแนวคิดในการเปิดสาขาวิศวกรรมที่มีการบูรณาการความรู้ทางวิศวกรรมพื้นฐานขึ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ (คณบดี ณ ขณะนั้น) ได้มีนโยบายที่จะเปิดสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ขึ้นภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านใน 4 ภาควิชาหลักร่วมกันร่างหลักสูตร ซึ่งมีคณะทำงานประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ (คณบดี) รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ ว่องรัตนะไพศาล (หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่และการควบคุม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล) รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร (หัวหน้าภาควิชาเครื่องกล) รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ เอื้อตรงจิตต์ (หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสวัชร นาคเขียว (หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์กษิต ระมิงค์วงศ์ (หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์)

  หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยฯ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2563 และเปิดทำการภายใต้สังกัดสำนักงานคณะวิศวกรรมศาสตร์โดยใช้พื้นที่บริเวณห้องประชุมชั้น 1 อาคารเรียนรวม 3 ชั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นพื้นที่สำนักงานชั่วคราวของสาขา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพงษ์ จำรูญ (ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตร) อาจารย์ ดร.กัญญา รัตนะมงคลกุล อาจารย์ ดร.กิตติยา ทุ่นศิริ และ นางสาวจิราธร วรรณสุยะ เป็นผู้จัดการและประสานงานหลักสูตรฯ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2564 จำนวน 14 คน จากนั้นสำนักงานสาขาฯ ได้ย้ายมาทำการเป็นการถาวรที่ชั้น 2 อาคารเรียนรวม 4 ชั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2564 และมีแผนการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีปีละ 50 คน และในปี 2565 สาขาฯ ได้รับการจัดสรรพื้นที่ชั้น 1 อาคารเรียนรวม 4 ชั้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนปฏิบัติการและจัดอบรมโดยใช้ชื่อว่า Robotic Learning Center หรือ RLC

  ต่อมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาสหวิทยาการขึ้นในปี 2565 และได้รวมเอาหลักสูตรที่มีการบูรณาการระหว่างภาควิชามาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ เริ่มแรกมี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หลักสูตรวิศวกรรมบูรณาการ และหลักสูตรวิทยาการข้อมูล (เปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษา)

  สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้และทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมและสังคมแห่งอนาคต โดยการเรียนการสอนเน้นการลงมือปฏิบัติงานจริงจากโจทย์ปัญหาทางวิศกรรมทั้งจากภาคอุตสาหกรรม การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับชาติและนานาชาติ และงานวิจัยพื้นฐานทางด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศ สาขาวิชาฯ ยังมีนโยบายสนับสนุนนักศึกษาให้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาหุ่นยนต์ร่วมกับสถาบันไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ หรือ IEEE โดยมีโครงการจัดตั้ง Robotics and Automation Society Student Branch Chapter (IEEE RAS Student Branch Chapter) เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับโอกาสในการฝึกฝนและปฏิบัติงานจริง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงานในวิชาชีพที่นักศึกษาสนใจในอนาคต